จับชีพจรเศรษฐกิจเวียดนามเสี่ยงวิกฤติ โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เมืองสำคัญของเวียดนามเคยเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อนแรง แต่ปัจจุบันกลายสภาพเป็นโครงการทิ้งร้าง สะท้อนสัญญาณร้ายเศรษฐกิจ
ไม่มีใครปฏิเสธว่า "เวียดนาม" เคยเป็นดาวเด่นของอาเซียนที่ใครๆ ก็อยากเข้าไปหาโอกาสจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้แต่ไทยยังต้องจับตาว่าเพื่อนบ้านรายนี้จะแซงหน้าจริงอย่างที่ใครๆ กล่าวขานกันหรือไม่
แต่ดูเหมือนวันวานอาจหวานชื่นกว่าปัจจุบัน เพราะหลายคนเริ่มมองเห็นเค้าลางของปัญหา ที่อาจฉุดลากเวียดนามสู่วังวนของวิกฤติ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างจำนวนมากที่ปล่อยทิ้งร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้าง "ไซ่ง่อน เรสซิเดนซ์" อพาร์ตเมนต์หรูใจกลางโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งวันนี้ กลับทิ้งไว้เพียงซากทิ้งร้างของกองอิฐกองปูน กองเหล็กขึ้นสนิม และคนงานไม่กี่คนที่กำลังปรับพื้นที่สำหรับจอดรถจักรยานยนต์
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เมืองสำคัญๆ ของเวียดนามเคยเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อนแรงสุดๆ แต่กลับกลายสภาพเป็นโครงการทิ้งร้าง ซึ่งสะท้อนถึงสัญญาณร้ายของเศรษฐกิจ
แม้จะมีเสียงของนายหัว ง็อก ทวน รองประธานคณะกรรมการประชาชนประจำโฮจิมินห์ซิตี้ ที่ระบุว่า พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ว่า สถานการณ์ของเวียดนามคล้ายกับวิกฤติต้มยำกุ้งที่เคยเกิดกับไทยเมื่อปี 2540 นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ผลักราคาให้สูงขึ้น เพราะซื้อเก็งกำไรมากกว่าอยู่อาศัย
แม้เศรษฐกิจยังขยายตัวในอัตรา 4% แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่ามีปัญหาน่าปวดหัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นเวียดนามที่ร่วง 4.8% เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ถือว่ามากสุดในรอบ 4 ปี
สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนายเหงียน ดึ๊ก เกียน มหาเศรษฐีวัย 48 ปี ที่ถือหุ้นในสถาบันการเงินรายใหญ่ของประเทศหลายแห่ง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารเอเชียพาณิชย์ (เอซีบี) ท่ามกลางข้อสงสัยที่ตำรวจตั้งข้อหาค้าขายผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับ 3 ธุรกิจในเครือ
คดีนี้ เป็นคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนก และก่อให้เกิดข้อสงสัยต่อเสถียรภาพทางการเงินของเวียดนาม ที่เคยมองกันว่าเป็นประเทศกำลังเติบโตในเอเชีย
ล่าสุด ตำรวจเวียดนามจับกุมอดีตผู้จัดการใหญ่ธนาคารเอซีบีเพิ่มอีกคน ในข้อหาเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมทางการเงินของรัฐ
กรณีของเอซีบี เน้นย้ำถึงปัจจัยที่มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามประสบปัญหา เพราะประเทศนี้ กำลังผนวกระหว่างการปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ กับเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งนักลงทุนยังคงสงสัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล และมีคำถามเกี่ยวกับข้อมูลสถิติต่างๆ
ยกตัวอย่างตัวเลขของธนาคารกลางเวียดนาม ที่ระบุว่า จำนวนลูกหนี้ที่ชักดาบมีราว 1 ใน 10 ของระบบธนาคาร โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล (non-performing loans) ในระบบธนาคารเวียดนามอยู่ที่ 202.1 ล้านด่อง หรือประมาณ 9.7 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 8.6% ของสินเชื่อทั้งระบบ แต่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ชี้ว่าสัดส่วนหนี้เน่าน่าจะสูงกว่านั้น
หากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เกิดจากทุนนิยมพวกพ้อง ปัญหาของเวียดนามก็อาจมาจากทุนนิยมพวกพ้อง บวกกับความเป็นคอมมิวนิสต์ บริษัทของรัฐจึงจับมือกับพวกพ้องและคนใกล้ชิดในระบอบปกครองพรรคคอมมิวนิสต์
เวียดนาม ก็กำลังเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก นักลงทุนในเวียดนามต่างก็ใช้ความได้เปรียบทำกำไรจากการลงทุนในโครงการก่อสร้าง เพราะนักเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์โครงการใหญ่ๆ มักเป็นบริษัทของรัฐที่สนิทชิดเชื้อกับพรรคคอมมิวนิสต์ และเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนต่ำ
แต่ปัจจุบัน บริษัทซี้ปึ้กเหล่านี้ต้องเผชิญกับหนี้ที่เกินกว่าระดับดูแลได้ อย่างกรณีของ "วินาชิน" และ "วินาไลน์ส" 2 อาณาจักรรัฐวิสาหกิจของเวียดนาม เจ้าของธุรกิจต่อเรือและบริษัทเดินเรือแห่งชาติ ที่ต้องเดินสู่ชะตากรรมล้มละลาย
ถึงแม้โฮจิมินห์ซิตี้จะยังคงเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวคึกคัก นักท่องเที่ยวจำนวนมาก และการจราจรที่ติดขัด ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญที่มีต่อเศรษฐกิจ แต่สิ่งเหล่านี้บดบังปัญหาที่ซ่อนอยู่หลังฉาก ทั้งเรื่องที่คนหนุ่มสาวไม่มีงานทำในอัตราใกล้เคียงกับกรีซและสเปน
ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ราว 20% ของทั้งหมดที่ต้องปิดกิจการในปีที่แล้ว รวมถึงโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ล่าช้าหรือยกเลิกไปในที่สุด
นักเศรษฐศาสตร์และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลเวียดนาม "เล ดัง ยวน" ยอมรับว่ากังวลเกี่ยวกับจังหวะเวลาของปัญหาในเวียดนาม เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติหนี้ยูโรโซน และการดิ้นรน เพื่อความอยู่รอดของเงินยูโร
หมายความว่า ปัญหาของเวียดนามมีส่วนผสมที่เป็นพิษมากๆ จากทั้งวิกฤติหนี้ยุโรป ภาวะเศรษฐกิจซบเซาในสหรัฐ บวกกับปัญหาเศรษฐกิจภายในเวียดนามเอง กลายเป็นส่วนผสมที่อันตรายมาก
ความหวังจึงอยู่ที่ภาคเอกชนในฐานะกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเวียดนามเป็นผู้ส่งออกสำคัญในธุรกิจเครื่องแต่งกายและรองเท้าในตลาดสหรัฐ แต่ในแง่เงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มผ่อนความแรง เหลือ 8 พันล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หรือแค่ 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อ 3 ปีก่อน
ตอนนี้ รัฐบาลท้องถิ่นเริ่มได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง เพราะค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเป็นรายได้หลักกลับหดหายไปโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในโฮจิมินห์ซิตี้ก็ต้องเลื่อนไปเสร็จสิ้นในปี 2559 หรือช้าออกไปจากเดิม 1 ปี ส่วนเมืองดานังที่เคยเติบโตมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ก็ต้องยกเลิกโครงการพัฒนาชานเมือง เพราะรายได้จากภาษีไม่เพียงพอที่จะสานต่อโครงการ
รัฐบาลเวียดนาม พยายามจัดการปัญหาแบบคลาสสิก ด้วยการคุมอุปทานเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้อยู่ในระดับเลข 2 หลัก และหั่นอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังต้องระมัดระวังในภาคธนาคาร เพราะลูกค้าจำนวนมากขึ้นไม่สามารถจ่ายหนี้ได้
การปล่อยสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจก็หดตัว เช่นเดียวกับการบริโภคที่ลดลง ขณะที่การพลิกฟื้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อหวังพยุงเศรษฐกิจก็ไม่ใช่จะทำได้ง่าย เพราะมีแต่คนอยากขาย ไม่มีใครอยากซื้อ