12. ปฏิรูปปกครองลาวฝั่งขวา “ให้ใช้สัญชาติสยามเท่านั้น”
“ราชอาณาจักรล้านช้างแต่ดั้งเดิมที่กว้างใหญ่ไพศาล อุดมสมบูรณ์ เข้มแข็ง เป็น เอกภาพ แต่ได้แบ่งแยกออกเป็น 3 แผ่นดินหรือ 3 อาณาจักรเพราะคนลาวเอง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1707 (พ.ศ.2250) ครั้นต่อมาถึง ค.ศ.1779 (พ.ศ.2322) ก็ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศสยามพร้อมกันทั้ง 3 อาณาจักร และครั้นต่อมาถึงปี ค.ศ.1893 (พ.ศ.2436) ก็ได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝ่าย โดยทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอันมีพื้นที่ประมาณ 143,000 ตารางกิโลเมตร และเต็มไปด้วยภูผาป่าไม้และหุบเหว ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส
ฝ่ายฝั่งขวาของแม่น้ำโขง อันมีพื้นที่ประมาณ 200,000 กว่าตารางกิโลเมตร และ เป็นที่ราบสูงกว้างขวาง พลเมืองหนาแน่น ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศสยามตามเดิม แต่สยามเรียกว่า “สัญชาติลาวในบังคับสยาม” อยู่ ครั้นต่อมาอีก 6 ปีคือถึงปี ค.ศ.1899 ลาวทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงจึงได้กลายเป็นสัญชาติสยาม...” 1
ถ้อย คำข้างต้นนี้ คล้ายเสียงโอดโอยต่อชะตากรรมในประวัติศาสตร์ของชนชาติลาว จนสะท้อนออกในงานศิลปวรรณคดีหลายเรื่อง รวมทั้งบทขับร้องฟ้อนรำที่จะต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า “โอย” หรือ “โอ้ละนอ...”
กลับมาดูด้านพระราชอาณาจักรสยาม!
หลังจากเสียดินแดนลาวทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสแล้ว 1 ปีต่อมามีการ เปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองภายในประเทศเสียใหม่ โดยจัดแบ่งเป็น “มณฑล” ทั้ง หมดทั่วประเทศสยามจัดเป็น 8 มณฑล ในจำนวนนั้นเป็นมณฑลหัวเมืองลาวทางฝั่งขวา แม่น้ำโขงที่อยู่กับราชอาณาจักรสยามรวม 3 มณฑลคือ
1. มณฑลลาวพวน ประกอบด้วย 12 หัวเมือง คือเมืองหนองคาย เมืองโพนพิสัย เมืองท่าอุเทน เมืองนครพนม เมืองมุกดาหาร เมืองสกลนคร เมืองหนองหาน เมือง กมุทาสัย (หนองบัวลำภู) เมืองขอนแก่น เมืองชนบท เมืองหล่มสัก และเมืองชัยบุรี (ปัจจุบันเป็นตำบลอยู่ในอำเภอท่าอุเทน) รวมทั้งเมืองขึ้นของเมืองเหล่านี้
2. มณฑลลาวกาว ประกอบด้วย 13 หัวเมืองและเมืองขึ้นของเมืองเหล่านั้น หัว เมืองทั้ง 13 คือ เมืองนครจำปาสัก เมืองอุบลราชธานี เมืองเขมราฐ เมืองยโสธร เมืองสุวรรณภูมิ เมืองศรีสะเกษ เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ เมืองกมลาสัย เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง และเมืองมหาสารคาม
3. มณฑลลาวกลาง ประกอบด้วยเมืองนครราชสีมา เมืองพิมาย เมืองปักธงชัย เมืองจันทึก เมืองนางรอง เมืองบุรีรัมย์ เมืองประโคนชัย เมืองพุทไธสง เมืองรัตนบุรี เมืองชัยภูมิ เมืองภูเขียว เมืองเกษตรสมบูรณ์ และเมืองจตุรัส
มณฑล ลาวพวน แต่ก่อนตั้งสำนักว่าราชการของข้าหลวงใหญ่อยู่เมืองหนองคาย ต่อมาย้ายมาตั้งอยู่บ้านหมากแข้ง คือเมืองอุดรธานีในปัจจุบัน ส่วนมณฑลลาวกาวตั้งสำนักอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี และมณฑลลาวกลางตั้งสำนักว่าราชการอยู่ที่เมืองนครราชสีมา
การ ปกครองหัวเมืองลาวสมัยนั้นยังคงเป็นไปตามประเพณีการปกครองของลาวแต่โบราณ ข้าหลวงใหญ่ที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ แรกๆ อาจไม่ได้แสดงอำนาจหน้าที่ด้าน การปกครองชัดเจนนัก เพียงแต่คอยกำกับดูแลและสอดส่องความเคลื่อนไหวให้อยู่ใน ความสงบเรียบร้อย แต่ต่อมามีการตัดสินโทษพวกโจรผู้ร้ายถึงขั้นสั่งให้ประหารชีวิต ทำให้อำนาจการปกครองของข้าหลวงใหญ่ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันเจ้านายท้องถิ่น ก็เริ่มรู้สึกว่าถูกลดทอนอำนาจลงไป
นอกจากนี้ยังมี การเก็บเงินส่วยจากชายฉกรรจ์อัตราคนละ 3 บาท 50 สตางค์ต่อปี ส่วนการศึกษาในสมัยนั้นก็ยังอาศัยวัดเป็นสำคัญ คือมีการบวชเรียนอักษรธรรมและ อักษรลาว (หรือที่เรียกว่าอักษรไทยน้อย) เนื่อง จากรัฐบาลสยามยังไม่มีโรงเรียนสอนอักษรไทย เว้นแต่ลูกหลานเจ้านายผู้ครองนคร จึงจะมีโอกาสฝากฝังลงไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ กับเจ้านายส่วนกลาง ส่วนระเบียบราชการก็เป็นไปตามแบบแผนลาวโบราณ คือเมืองหนึ่งก็ให้มีเจ้าเมือง อุปราช ราชวงศ์ ราชบุตร ตามลำดับ ชื่อบรรดาศักดิ์ (นามยศ) ก็ยังใช้ตามเดิม เช่นซาเนตร ซานนท์ เมืองแสน เมืองจันทน์ เมืองปาก เมืองแพน หรือ ท้าวสุทธิสาร ท้าววรบุตร เป็นต้น
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาวพระองค์แรก